ศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเนี่ย ปัตตานี

ศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเนี่ย ปัตตานี


2024-11-13 10:05:13

ศาลเจ้าเล่งจูเกียง หรือ ศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว ตั้งอยู่บริเวณย่านเมืองเก่า "กือดาจีนอ" อยู่ที่ 63 ถนนอาเนาะรู ตำบลอาเนาะรู อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี เป็นศาลเจ้าเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2117 ในรัชสมัยของสมเด็จพระมหาธรรมราชาแห่งกรุงศรีอยุธยา ลักษณะเป็นศาลเจ้าชั้นเดียว แบ่งเป็นห้องโถงกลาง มีปีกซ้ายและปีกขวา ลานด้านหน้าอาคารมีแท่นบูชาเทวดา มีแท่นบูชาสามแท่น แท่นกลางคือโจ๊วซูกง ซึ่งเป็นเทพประธาน และ เจ้าแม่ทับทิม  แท่นซ้ายคือเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวและน้องเจ้าแม่ ส่วนแท่นขวาคือตั่วเหล่าเอี้ย หรือ เจ้าพ่อเสือ และฝูเต๋อเจิ้งเฉิน  ห้องโถงด้านขวามีเทพซาเจียงกุน และ เจ้าแม่กวนอิม ห้องโถงด้านซ้ายมีเทพกุนเต้กุน   เดิมศาลเจ้านี้มีชื่อเรียกว่า "ศาลเจ้าซูก๋ง" เพราะมีโจ๊วซูก๋งหรือพระหมอเป็นเทพหลักของศาล ต่อมาได้รับการบูรณะและจัดงานสมโภช โดยหลวงสำเร็จกิจการจางวาง (ตันจงซิ่น) เมื่อปี พ.ศ. 2407 หลังจากนั้นพระจีนคณานุรักษ์ (ตันจูล่าย) ได้อัญเชิญเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวจากบ้านกรือเซะมาประดิษฐานในศาล และตั้งชื่อศาลใหม่ว่า "ศาลเจ้าเล่งจูเกียง" แต่นิยมเรียก "ศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว"

          ทั้งนี้ศาลเจ้าเล่งจูเกียงมีพระมหากษัตริย์ไทยได้เสด็จมายังศาลเจ้าแห่งนี้สามพระองค์ ได้แก่ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว   พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โดยพระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ที่เสด็จมาจะพระราชทานกระถางธูปเป็นประจำ ได้แก่ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระวรราชชายาได้พระราชทานรูปเคารพเจ้าแม่กวนอิมและกระถางธูปทองเหลืองขนาดใหญ่แก่ศาลเล่งจูเกียง เพื่ออุทิศพระราชกุศลถวายแด่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ส่วนพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ  สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เสด็จมาเคารพศาลเจ้าแห่งนี้หลายครั้ง บางครั้งก็เสด็จเป็นการส่วนพระองค์ 

          ตามตำนานเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว ได้กล่าวว่า เป็นหญิงชาวจีนตระกูลลิ้มหรือหลิม มีพี่ชายชื่อลิ้มโต๊ะเคี่ยมซึ่งต่อมาได้เดินทางมารับราชการที่เมืองปัตตานีและสมรสกับธิดาของเจ้าเมือง เข้ารีตอิสลามและไม่หวนกลับบ้านเกิดเมืองนอน มารดาที่อยู่ในประเทศจีนก็คิดถึงบุตรชายยิ่งนักเพราะไม่ติดต่อกลับมาเลย ลิ้มกอเหนี่ยวสงสารมารดาจึงอาสาออกตามหาพี่ชาย จนพบกับลิ้มโต๊ะเคี่ยมที่บ้านกรือเซะ และอาศัยอยู่ที่นั่นยาวนานก็เพื่อชวนให้พี่ชายกลับเมืองจีนไปพบมารดา แต่พี่ชายกลับปฏิเสธเพราะกำลังสร้างมัสยิดกรือเซะ เมื่อไม่สามารถทำให้พี่ชายกลับประเทศจีนตามความประสงค์ของมารดา ลิ้มกอเหนี่ยวจึงผูกคอตายใต้ต้นมะม่วงหิมพานต์ ด้วยความอาลัย ลิ้มโต๊ะเคี่ยมจึงสร้างฮวงซุ้ยให้แก่น้องสาวตามประเพณี แต่เมื่อชาวจีนได้ทราบถึงความกตัญญูรักษาสัตย์ จึงมีชาวบ้านไปบนบาน ก่อนนำไม้มะม่วงหิมพานต์นั้นมาแกะสลักเป็นรูปเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวประดิษฐานไว้ที่ศาลเจ้ากรือเซะ ภายหลังได้ย้ายไปประดิษฐาน ณ ศาลเล่งจูเกียงจนถึงปัจจุบัน เป็นที่ยอมรับนับถือในกลุ่มชาวไทยเชื้อสายจีนสืบต่อมา  แม้กระทั่งลูกหลานชาวจีนที่เปลี่ยนเข้ารับศาสนาอิสลามและใช้ภาษามลายูไปแล้ว แต่บางส่วนก็มีไปขอพรหรือบนบานกับเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว ในวันฮารีรายอก็จะมีการเซ่นสรวงเจ้าแม่ และเมื่อพิธีแห่เจ้าแม่เดือนสามชาวมุสลิมเชื้อสายจีนก็จะไปชมขบวนเพื่อระลึกถึง